หลายคนคงเคยไปเดินเล่น เซลฟี ถ่ายรูปเล่นย่านถนนเจริญกรุงแล้วพบว่า รูปทรงบ้านเรือนในย่านนั้นมีเสน่ห์ ที่รู้สึกแบบนั้นคงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีการปลุกกระแสรักษ์เมืองเก่า ทว่าอาคารเหล่านั้นล้วนมีเรื่องราวในตัวเองและชวนให้เสาะหาเติมเต็มช่องว่างของกาลเวลา นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นเล็ก ในรูปแบบของกาชาปองตึกย่อส่วนของศิลปิน นักออกแบบ – ฐปนัท แก้วปาน
Blue Bangkok คือกลุ่มนักออกแบบที่มีฐปนัท เป็นแกนหลัก ร่วมกับสุภัสสรา เนตรบำรุง, เชษฐชาติ ทาชาติ และสุริยา วังบอน โดยมีจุดมุ่งหมายจะผลิตงานออกแบบเชิงสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงเทศกาล Bangkok Design Week 2021 ถือเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาส่งงานเข้าร่วมใช้ชื่อผลงานว่า Bangkok Old Building Model โดยการเลือกอาคารในย่านตลาดน้อย-เจริญกรุง มาทำขึ้นในรูปแบบของกาชาปองที่ระลึก สร้างสีสันให้กับผู้เข้าร่วมชมงานให้ได้ไปตามกดกาชาปอง พร้อมทั้งแกะรอยเส้นทางอาคารจริงเหล่านั้น จัดเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่เพียงความสนุกสนานหากแต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการเชื่อมโยงด้านสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่อยู่กันร่วมได้ในสังคมปัจจุบัน
จากความที่คุ้นเคยกับบ้านเรือนเก่ามาตั้งแต่เด็ก ฐปนัทอาศัยอยู่บ้านยายซึ่งเป็นบ้านไม้เก่าที่สุพรรณบุรี ในยุคนั้นก็เคยมีตู้กดกาชาปองแบบไทยๆ อย่างตู้ไข่หยอดเหรียญ ต่อจากนั้นเมื่อเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ การได้เดินทางไปเรียนในโรงเรียนในย่านเมืองเก่าทั้งฝั่งธนบุรี-ฝั่งกรุงเทพฯ (ทวีธาภิเศก-สวนกุหลาบฯ) บวกกับความที่เป็นคนชอบการเดินซึ่งเป็นนิสัยที่ได้รับมาจากคุณพ่อ ทำให้เขาได้สังเกตเห็นความงามของบ้านเรือนอย่างต่อเนื่อง เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรเขาเลือกเรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ในคณะมัณฑนศิลป์ ประสบการณ์ทุกอย่างคล้ายเป็นเบ้าหลอมที่ในวันหนึ่งเมื่อจะสร้างงานของตัวเองก็เลือกประเด็นที่อยู่ในความสนใจออกมา
กรุงเทพฯ มีอาคารโบราณที่ทรงคุณค่ามากมายที่ถูกทุบทิ้งทำลายไปอย่างน่าเสียดาย และบนแนวคิดว่าการเชื่อมต่อของโลกอดีตกับปัจจุบันนั้นอยู่ในศิลปะ รวมถึงกิจกรรมที่ผู้คนจับต้องได้บนกระแสวัฒนธรรมป๊อบจะเป็นพลังสร้างสรรค์ที่จะดึงให้คนรุ่นใหม่หันไปสนใจเรื่องราวในอดีต ผลงานชุดตึกย่อส่วนที่ร่วมแสดงนิทรรศการงานออกแบบกรุงเทพฯ Bangkok Design Week 2021 (BKKDW) ที่จัดขึ้นตั้งแต่ 12- 20 มิถุนายน 2564 ปีนี้ก็ตอบโจทย์นั้นได้อย่างดี กิจกรรมการสะสมกาชาปองกำลังอยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ใช่ของที่ระลึกประจำเมืองแบบเป็นทางการที่คนทั่วไปจะนึกถึงเชิงสัญลักษณ์ เช่น เสาชิงช้า, วัดพระแก้ว ฯลฯ แต่เป็นอาคารบ้านเรือนที่เห็นผ่านตาตามถนนหนทางซึ่งถูกมองข้ามไป ทั้งหมดล้วนเป็นรอยต่อทางประวัติศาสตร์ การเข้ามาของอิทธิพลศิลปะตะวันตก และการผสมผสานทางวัฒนธรรม ฐปนัทเชื่อว่ามีอะไรหลายอย่างที่หายไปจากความรับรู้ของผู้คน
ความจริงเขาเคยส่งงานออกแบบเข้าร่วมแสดงกับ BKKDW มาก่อนหน้านี้ในนามส่วนตัว แต่สำหรับในนามกลุ่ม Blue Bangkok ของที่ระลึกในชุด ‘เจริญกรุง-ตลาดน้อย’ นั้นถือเป็นชุดแรกประกอบไปด้วยอาคาร 4 หลัง คือ ร้านปิง (อุปกรณ์เครื่องเขียน เจริญกรุง 38), อาคาร NANA เจริญกรุง 43, บ้านตึกเหลียวแล แฟลตทรัพย์สิน ตลาดน้อย และร้านโบ๊ยเกี้ยเจ๊เนี้ยว ปากซอยศรีเวียง บางรัก ซึ่งแต่ละอาคารมีเอกลักษณ์เฉพาะและมีความหลากหลายในรูปแบบสถาปัตยกรรม
เมื่อจบงานนี้ไปแล้วยังจะมีโปรเจกต์ต่อไปรอให้สานต่อ ที่ทาง Blue Bangkok อยากทำก็คือ ตึกย่านทรงวาด, กาชาปองอับเฉาในสไตล์ของตัวเอง, ตัวหมากรุกไทยประยุกต์ ความตั้งใจของพวกเขาไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายนัก แค่อยากทำงานให้มากที่สุดตามกำลังที่จะทำได้เท่านั้นเอง สำหรับงานชุดแรกนี้ เขาเปิดกว้างสำหรับนักสะสมหรือบางคนที่อยากจะสานต่อเชิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เป็นความสุขใจแล้วที่เห็นศิลปะการออกแบบของตัวเองเป็นตัวนำทางไปสู่ความสนใจอันหลากหลายทางสังคม
อ้างอิง: bangkokdesignweek.com, Facebook: Blue Bangkok