เป็นธรรมดาของการพัฒนาเมืองใหญ่ที่ต้องสร้างสาธารณูปโภคให้ชาวเมืองได้รับความสะดวกสบายจากการเดินทาง หลายเมืองใหญ่ในโลกนิยมใช้รถไฟในการเดินทาง พื้นที่บางส่วนที่รถไฟวิ่งเข้ามาในตัวเมืองเดิมที่ไม่ได้ออกแบบพื้นที่รางเตรียมไว้ ถ้าไม่เป็นรถไฟใต้ดิน ก็จะกลายเป็นทางรถไฟลอยฟ้าแบบ BTS ที่ชาวกรุงเทพมหานครใช้ ผลจากการสร้างทางรถไฟลอยฟ้าทำให้เกิดพื้นที่เหลือของเมืองบริเวณข้างใต้ หลายแห่งกลายเป็นที่ทรุดโทรม จนเป็นปัญหาด้านทัศนียภาพกับเมือง คำถามคือมีทางแก้อย่างไรได้บ้าง?
พื้นที่เหลือเหล่านี้ มีอีกคำตอบจากกรุงโซล เกาหลีใต้ กับโครงการนำร่องชื่อ Roof Square ที่นำเสนอการสร้างพื้นที่สาธารณะจากสเปซเหลือของเมืองให้มีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการออกแบบ เนื่องจากการสร้างทางรถไฟจะทำให้พื้นที่ด้านล่างขาดการเชื่อมโยงกัน พื้นที่ชุมชนที่เคยเป็นเนื้อเดียวกันก็ถูกแบ่งออกจากกัน การเชื่อมโยงชุมชนทั้ง 2 ฝั่งได้ถูกเสนอทางแก้ปัญหาจากสถาปนิก HG-Architecture ด้วยการพัฒนาสะพานลอยอิมุนให้เป็นตัวเชื่อมผู้คนในชุมชนด้วยกิจกรรมที่เติมลงไปใหม่
เมื่อมองเข้าไปยังกระบวนการ มันคือการมองว่าปัญหาการขาดความเชื่อมต่อของชุมชนเดิมจากการพัฒนาเมือง วิธีแก้คือเพิ่มความเชื่อมต่อด้วยสถาปัตยกรรม กระบวนการคือการออกแบบสถาปัตยกรรมที่รองรับกิจกรรมใหม่ให้แก้ปัญหาได้ มันคือการออกแบบสะพานลอยที่ทำหน้าที่หลากหลายในพื้นที่ 2 ชั้น กิจกรรมชั้นล่างคือการเชื่อมเมือง 2 ฝั่ง จากฝั่งตะวันออกสู่ตะวันตก มันกลายเป็นพื้นที่คลุมทางเดินข้ามถนนจากทางม้าลายใต้ทางรถไฟ เมื่อเดินข้ามถนนก็จะผ่านที่นั่ง พื้นที่สันทนาการซึ่งรองรับกิจการร้านค้าในละแวกใกล้เคียงให้สามารถมานั่งกินดื่มได้ มันจึงเสริมกิจกรรมให้มากกว่าแค่เดินข้ามถนน ในขณะที่พื้นที่ใต้ทางรถไฟมีความสูง จึงสามารถเติมชั้นลอยแทรกเข้าไปอีก 1 ชั้น กลายเป็นพื้นที่กิจกรรมใหม่บนชั้น 2 ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ อย่างเช่นโรงละครกลางแจ้งขนาดย่อม พื้นที่นั่งเล่นที่รองรับกิจกรรมหลากหลายด้วยการเผื่อพื้นที่โล่งไว้ให้ยืดหยุ่นต่อหลากกิจกรรม เสริมลานกีฬาด้วยเครื่องเล่นแบบต่าง ๆ พื้นที่สันทนาการเหล่านี้สร้างขึ้นด้วยความคาดหวังที่จะหาคำตอบใหม่ด้วยสถาปัตยกรรมที่ฟื้นฟูความสัมพันธ์
ในประเทศพัฒนาแล้วใกล้บ้านเราอย่างสิงคโปร์มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวสำหรับ 1 คนคือ 66 ตารางเมตร ส่วนหากมองกลับมายังกรุงเทพมหานคร เรามีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวสำหรับ 1 คนคือ 6 ตารางเมตร หากเราพิจารณาพื้นที่ว่างใต้ทางด่วนกว่า 4,500 ไร่ ในกรุงเทพมหานครให้สามารถพยุงสุขภาพคนเมืองให้ดีขึ้นได้ก็ล้วนเป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่การพัฒนาพื้นที่ใต้สะพาน ทางด่วนให้มีประสิทธิภาพ ควรคำนึงถึงเรื่อง access หรือการเข้าถึงเป็นอย่างมาก หากไม่คิดถึงการเข้าถึงที่สามารถเชื่อมโยงกับชุมชนโดยรอบอย่างการเดินเท้าและสัดส่วนที่สัมพันธ์กับเมือง มันเสี่ยงที่จะล้มเหลวสูง ดังที่เราเห็นได้จากโครงการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนที่ร้างเพราะเรื่องการเข้าถึง
อ้างอิง: hg-architecture.com, mooool.com, www.archdaily.com