Woola วัสดุกันกระแทกทำจากขนแกะเหลือใช้ สวยหรู มีสไตล์ ช่วยลดโลกร้อนจากขยะพลาสติก

พ.ศ. นี้ การกดสั่งของออนไลน์ แล้วให้ร้านค้าแพ็กใส่กล่อง ฝากไรเดอร์มาหย่อนให้ถึงหน้าบ้าน กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว จากข้อมูลของ obero.com ในปี 2023 นี้ ทั่วโลกมีนักช็อปออนไลน์เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเป็น 2.64 พันล้านคน คิดเป็น 33.3% ของประชากรโลกทั้งหมด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ในทุก 3 คน จะมี 1 คนที่ซื้อของออนไลน์

การซื้อของออนไลน์มีข้อดีที่สะดวกสบาย ประหยัดเวลาและการเดินทาง แถมหลายครั้งยังได้สินค้าราคาถูกกว่าเวลาไปซื้อตามหน้าร้าน แต่… ข้อเสียอันดับแรกของการสั่งสินค้าออนไลน์คือ เมื่อสินค้าทุกชิ้นต้องถูกแพ็กลงกล่องให้เรียบร้อยก่อนนำไปจัดส่ง มันจึงก่อให้เกิดขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลตามมา โดยเฉพาะพลาสติกกันกระแทก หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘บับเบิ้ล’ (bubble wrap) ที่ถึงแม้จะสามารถส่งไปรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ซ้ำได้ แต่ผู้บริโภคหลายคนก็มักไม่ใส่ใจ ปล่อยให้มันกลายเป็นขยะพลาสติกที่แทรกซึมลงสู่ธรรมชาติ

Woola มองเห็นความสำคัญของปัญหานี้ พวกเขาจึงคิดหาวัสดุที่จะมาทดแทนบับเบิ้ล โดยคำตอบที่เขาพบก็คือ ‘Bubble Wool’ หรือวัสดุกันกระแทกที่สามารถใช้ห่อสินค้าได้เหมือนกับบับเบิ้ล แต่จะต่างก็ตรงที่ Bubble Wool ทำมาจากเศษขนแกะเหลือใช้ ที่นอกจากจะเป็นวัสดุธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ขนแกะหรือ wool ก็ยังมีความยืดหยุ่น ทนต่อสภาพอากาศ ที่สำคัญ ดูสวยดูแพงกว่าพลาสติกหลายเท่า แล้วก็ยังคงทน สามารถเก็บกลับมาใช้ซ้ำได้ง่ายกว่าบับเบิ้ลพลาสติกด้วย

ผลิตภัณฑ์ของ Woola ไม่ได้มีแค่บับเบิ้ลกันกระแทก แต่ยังมีซองเอกสารบุกันกระแทกและแพ็กเกจจิ้งนุ่มๆ ที่ใช้ห่อขวดไวน์ โดยแน่นอนว่าทุกชิ้นทำมาจากเศษขนแกะเหลือใช้ ที่หาก Woola ไม่นำมาใช้ เศษขนแกะเหล่านั้นก็จะกลายเป็นขยะไป อย่างแค่ในยุโรปก็มีเศษขนแกะที่ต้องถูกนำไปเผากำจัดถึง 200,000 ตันต่อปี เลยทีเดียว การมาถึงของ Woola จึงไม่ใช่แค่ช่วยลดขยะพลาสติกและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตพลาสติกและการเผาทำลายขยะเท่านั้น แต่ยังนำเอาขยะเหลือใช้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แถมยังมีสไตล์อีกด้วย

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าบ้านเราจะมีโอกาสได้เห็นบับเบิ้ลวูลในการแพ็กสินค้ากับเขาบ้างไหม แต่ถึงตอนนี้จะยังไม่มีบับเบิ้ลวูล เราก็แนะนำให้ผู้ประกอบการช่วยกันลดการใช้พลาสติกให้ได้มากที่สุด ด้วยการหันไปใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษรังผึ้ง ฯลฯ ห่อสินค้าแทนการใช้บับเบิ้ลพลาสติก ส่วนผู้บริโภคนั้น หากได้รับสินค้าที่ห่อมาด้วยบับเบิ้ลพลาสติก ก็ควรช่วยกันเก็บไปส่งรีไซเคิล เผาทำลายอย่างถูกวิธีกับ N15 Technology หรือ เก็บไว้ใช้ซ้ำ ก็จะดีมากเลย

 

ที่มา: woola.io

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles